รู้หรือไม่ ?? เครื่องตัดหนัง เครื่องปั๊มหนัง เครื่องผ่าหนัง เครื่องปอกหนัง แตกต่างกันอย่างไร

เครื่องจักรแบบไหนที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตสินค้าประเภทหนังมากที่สุด ?

อุตสาหกรรมการผลิตในประเทศของเรามีสินค้าหลากหลายชนิดที่ทำจากวัสดุประเภทหนัง วันนี้ทาง Micap Thailand จะพาไปทำความรู้จักกับเครื่องตัดหนัง เครื่องปั๊มหนัง เครื่องผ่าหนัง และเครื่องปอกหนัง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ละเครื่องมักนำไปใช้กับอุตสาหกรรมไหน และประเภทของวัสดุหนังที่มักนิยมนำมาใช้ทำรองเท้า เข็มขัด เบาะรถยนต์ กระเป๋าสตางค์ หรือเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

วัสดุหนังที่มักนำมาใช้ทำรองเท้า เข็มขัด เบาะรถยนต์ กระเป๋าสตางค์ หรือเฟอร์นิเจอร์

วัสดุที่ใช้ผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด หนึ่งในวัสดุที่นำมาใช้บ่อยๆก็ คือ…

วัสดุประเภทหนัง หรือ Leather ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ

1. วัสดุหนังแท้

2. วัสดุหนังเทียม หรือที่เราเรียกกันว่า วัสดุหนังสังเคราะห์

ภาพ : การเปรียบเทียบลักษณะของหนังแท้และหนังเทียม

วัสดุหนังแท้ ( Genuine leather )

คือ หนังที่ได้จากสัตว์ต่างๆ เช่น หนังวัว หนังแกะ หนังแพะ หนังม้า หรือสัตว์ป่าอื่นๆ

วัสดุหนังเทียม หรือ วัสดุหนังสังเคราะห์ ( Artificial leather )

คือ หนังสังเคราะห์ที่ถูกนำมาทำให้มีลักษณะคล้ายหนังแท้ สามารถแต่งเติมสีสันลงบนแผ่นหนังได้

โดยส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1. หนัง PU (Polyurethane) เป็นหนังเทียมที่นิยมใช้ในการทำรองเท้า กระเป๋า เพราะจะมีผิวสัมผัสที่ค่อนข้างนิ่ม จึงทำให้ได้รับความนิยม อายุของหนัง PU จะอยู่ที่ 1-3 ปีตามเกรดของ PU แต่ละชนิด เมื่อเสื่อมสภาพ ผิวจะร่อนออกเป็นผง ถ้าเจอแบบนี้ แนะนำให้ทิ้งได้เลยครับ

2. หนัง PVC (Polyvinylchloride) เป็นหนังสังเคราะห์ที่มีส่วนผสมของพลาสติกมากกว่า PU จึงมีความกระด้างมากกว่า PU แต่อายุการใช้งานจะนานกว่า เมื่อเสื่อมสภาพ PVC จะแตกลายงาออก ส่วนใหญ่ PVC จะเน้นไปใช้งาน Furniture มากกว่างานแฟชั่น แต่ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน

3. หนัง Microfiber เป็นหนังเทียมที่เพิ่งมีการคิดค้นมาใหม่ล่าสุด เจัาหนังเทียมชนิดนี้มีความคล้ายหนังแท้มากที่สุด เรียกว่า Premium เลยก็ว่าได้ เพราะมีความทนทานเท่ากับหนังแท้เลย จึงเป็นทางเลือกใหม่ๆให้กับเจ้าของแบรนด์หลายๆ ท่าน แต่คุณภาพนั้นก็มาพร้อมกับราคา หนัง Microfiber นั้นราคาค่อนข้างสูงกว่าหนังเทียมชนิดอื่นๆ 2-3 เท่าตัวเลยทีเดียว แต่ถึงยังไงก็ยังถูกกว่าหนังแท้อยู่มาก

ส่วนใหญ่อุตสาหกรรมการผลิตรองเท้ามักใช้ หนัง ( Leather ) เป็นวัสดุหลักในการผลิตสินค้ามากที่สุด แบ่งออกเป็น 6 ประเภทหลักๆ ดังนี้

1. Suede หรือ “หนังกลับ” เป็นพี่น้องกับหนัง “กล้ามเนื้อที่ติดกับหนัง” ประเภท Roughout แต่จะถูกแล่ให้หนังบางลง เป็นหนังที่มีความสวยงามมากกว่า นิ่มกว่า เหมาะใช้ทำรองเท้าที่ใช้งานเบาๆ แบบ Casual Wear ไม่ได้เป็นใส่ใช้งานหนักๆ

2. Shell Cordovan “หนังจากหนังสะโพกม้า” ที่เป็นสุดยอดของหนังในพื้นพิภพนี้สุดหายากเลยครับ หนังประเภทนี้ผลิตได้จำนวนน้อยมากต่อปีเมื่อเทียบกับหนังประเภทอื่นๆ แถมราคาแพงแบบสุดๆ ที่ทนยืดทนบกทนน้ำได้อย่างไม่น่าเชื่อ แถมเกิดรอยพับจากการสวมใส่ช้ากว่าหนังประเภทอื่นๆ พร้อมที่จะอยู่กับคุณไปได้หลายสิบปีหากคุณรักษามันอย่างถูกวิธีด้วยครับ

3. Scotch Grain ตามชื่อเลยครับ หนังนี้ริเริ่มผลิตในประเทศสก๊อตแลนด์นั้นเอง โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่ลายแตกของหนังที่เกิดขึ้นจากการฟอกด้วยกรรมวิธีที่ใช้ถังไม้บ่มวิสกี้โบราณ จนได้เป็นลายแตกคล้ายหนังแรด แถมหนังประเภทนี้ทนต่อสภาพอากาศที่หลากหลายได้ดีทีเดียว

4. Roughout หนังด้านหยาบที่ทำจาก “กล้ามเนื้อที่ติดกับหนัง” ของวัว ไม่เน้นความเงา แต่เน้นความทนและระบายอากาศดี ทำให้นิยมใช้ทำเป็น Texture ด้านนอกของตัวรองเท้า และเพราะความหนาสุดทนของมัน หนังสไตล์นี้ได้ถูกผลิตเป็นรองเท้าบูทที่กองทัพทหารใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว

5. Pull-Up คือ “หนังวัวเคลือบด้วย Waxed และ น้ำมันแต่งสีผิวหนัง” ตรวจดูง่ายๆ คือ “หากคุณดึงหนังบางส่วน หนังจะเปลี่ยนสีเป็นอ่อน” จึงเป็นที่มาของคำว่า Pull-Up นั่นเอง นิยมใช้ทำรองเท้า Casual Wear สวมใส่แบบลำลองในวันชิลๆ ครับ

6. Patent Leather เป็น “หนังลูกวัวเคลือบเงาพิเศษ” หนังประเภทนี้จะใช้ทำรองเท้าที่เป็นทางการมากที่สุด นิยมใส่คู่กับชุดสูทหรือทักซิโด้ เพราะความหรูหราของการเป็นหนังที่ได้รับการเคลือบให้เงามันเป็นพิเศษมากที่สุดครับ

วัสดุหนังแท้ ( Genuine leather ) มักนำมาใช้ในการผลิตรองเท้า

วัสดุหนังแท้ที่ใช้ทำรองเท้าจะมีอยู่หลายประเภท และแต่ละประเภทนั้นยังสามารถแบ่งแยกย่อยได้อีกหลายชนิด หนังที่ใช้ทำรองเท้ามีทั้งหนังวัว หนังควาย หนังจระเข้ หนังนกกระจอกเทศ หนังจิงโจ้ หนังแกะ หนังแพะ และอื่นๆ

ซึ่ง “หนังวัว” จะเป็นหนังที่นิยมนำมาทำรองเท้ามากที่สุด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. Top Grain Leather หรือหนังชั้นบนสุดของหนังสัตว์

เป็นหนังที่ดีที่สุด ลวดลายสวย เป็นธรรมชาติที่สุด แข็งแรง ทนทาน เหมาะสำหรับการนำมาทำเครื่องหนังชนิดต่างๆ สำหรับการใช้งานมากที่สุด เช่น ทำกระเป๋าสตางค์หนังแท้ เข็มขัดหนังแท้ รองเท้าหนังแท้ เป็นต้น ซึ่งผิวบนสุดของหนังชั้นนี้จะมีชื่อเรียกว่า Full Grain Leather เป็นหนังที่อยู่ด้านชั้นบนสุดและดีที่สุด ผู้ผลิตนิยมนำส่วนนี้มาใช้ในการทำเครื่องหนังอย่างกระเป๋าสตางค์หนังแท้มากที่สุด

ซึ่ง Full grain leather ยังแบ่งย่อยออกตามการย้อมสีได้เป็น

– Aniline Leather ผ่านการย้อมสี (Dyes) ลงลึกเข้าไปในชั้นของหนัง จึงไม่มีการเคลือบผิว (Coating) กันริ้วรอยจากการใช้งาน และคราบจากการใช้งานอีกชั้น ซึ่งสังเกตุ ได้จากส่วนบน (ที่เป็นลายหนัง) กับท้องหนัง (ส่วนใต้หนัง) จะมีสีไม่ต่างกันมากจนเกือบจะเป็นสีเดียวกัน ทั้งส่วนบนและส่วนท้องหนัง ในส่วนนี้จะได้หนังที่มีลักษณะนุ่ม สีและลวดลายออกมาอย่างธรรมชาติที่สุด ยิ่งผ่านการใช้งานยิ่งนาน สีของหนังจะยิ่งเข้มขึ้น ดูสวยงามตามการใช้งานมากยิ่งขึ้น ซึ่งหนังประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่หลงไหลเครื่องหนังแท้แบบดิบๆ ดั้งเดิมและเป็นธรรมชาติที่สุด – Semi Aniline Leather ผ่านการย้อมสี บางส่วนของแผ่นหนัง เช่นเฉพาะส่วนผิว และมีการเคลือบผิวเข้าไป ทำให้สีบนหนัง จะเข้มกว่าท้องหนัง อย่างเห็นได้ชัดเจน

2. Split leather หรือส่วนหนังชั้นที่เหลือของหนังสัตว์

หลังจากที่ได้เฉือนเอาส่วนของ Top grain ออกไปแล้วนั่นเอง ซึ่งหนังส่วนนี้ จะเป็นหนังกลับ (Suede) ทั้งสองด้าน ซึ่งหนังในส่วนนี้จะเป็นหนังที่มีความทนทาน แข็งแรง น้อยกว่าหนังในส่วนของ Top Grain Leather อย่างชัดเจน และได้นำเอาหนังส่วนนี้ไปทำเครื่องหนังประเภทต่างๆ ตามชนิดของกรรมวิธีการผลิต เช่น หนังกลับ (Suede) หนังนูบัค (Nubuck) เป็นต้น

การเลือกใช้เครื่องจักรสำหรับใช้ในการผลิตสินค้าวัสดุประเภทหนัง

เครื่องตัดหนัง หรือเครื่องตัดอัตโนมัติ

เป็นเครื่องจักรในโรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่มักเลือกใช้งาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและสามารถตอบสนองความต้องการด้านการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้า เช่น กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง เฟอร์นิเจอร์หนัง หรืออุปกรณ์เครื่องกีฬา เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.เครื่องตัดหนังอัตโนมัติ ( Leather Cutting )

มักจะนำไปใช้สำหรับตัดวัสดุประเภทหนังแท้ (Genuine leather) แต่ก็สามารถตัดวัสดุหนังเทียม (Artificial leather) ได้เช่นกัน ด้วยขนาดเครื่องและพื้นที่การตัดของเครื่องเหมาะสำหรับตัดหนังที่มีลักษณะเป็นแผ่น หากเป็นหนังเทียมสามารถตัดได้หลายๆชั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาของแผ่นหนังและรูปแบบการตัดที่ได้ทำการออกแบบไว้

2.เครื่องตัดวัสดุสังเคราะห์อัตโนมัติ ( Synthetic Cutting )

มักจะนำไปใช้สำหรับตัดวัสดุประเภทหนังเทียม( Artificial leather ) สามารถตัดหนังที่มีลักษณะเป็นม้วนและเป็นแผ่น สามารถตัดได้หลายๆชั้น ด้วยลักษณะของเครื่องที่มี่ตั้งแต่ขนาดเล็ก ใช้พื้นที่การจัดวางไม่มาก และการดูแลรักษาและการใช้งานที่ง่าย ทำให้เป็นเครื่องตัดที่มีความนิยมมากที่สุดในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต

เครื่องปั๊มหนัง หรือเครื่องปั๊มไดคัท

เป็นเครื่องปั๊มตัดระบบไฮดรอลิค มักนิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีวิธีการผลิตในรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ยังมีการใช้ฝีมือของคนในการผลิตสินค้า เช่น พวงมาลัยรถยนต์ รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น เครื่องปั๊มตัดระบบไฮดรอลิคจึงป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับปั๊มตัดวัสดุเป็นชิ้นๆ เพื่อนำชิ้นส่วนนั้นๆมาประกอบในขั้นตอนต่อไปของการผลิตสินค้า แบ่งออกเป็น 3 ประเภทที่นิยมมาก ได้แก่

1. เครื่องปั้มไดคัทระบบไฮดรอลิคแบบหัวเลื่อนถอยหลังมาตัดชิ้นงาน

หรือ Receding Head Hydraulic Die Cutting Machine ( RBC Series )

มักนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้วัสดุประเภทหนังแท้ ( Genuine leather ) มากที่สุด เนื่องจากหนังแท้มีราคาค่อนข้างสูง ทำให้เครื่องจักรที่จะนำไปใช้งานกับหนังแท้ต้องมีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำสูง เครื่องนี้จึงมีจังหวะการชะลอหัวตัดระยะ 10 มิลลิเมตรก่อนที่หัวตัดจะกดลงที่มีด เพื่อให้วัตถุดิบขาดอย่างๆสม่ำเสมอ นิยมใช้สำหรับวัสดุหนังแท้หรือหนังเทียมแบบแผ่น ( Sheet )

2. เครื่องปั้มไดคัทระบบไฮดรอลิคแบบหัวเลื่อน

หรือ Travelling Head Hydraulic Die Cutting Machine ( THNC Series )

เป็นเครื่องที่มีพื้นที่และขนาดเล็กกว่า RBC Series มีกำลังการตัด กำลังตัด 20-25 ตัน สามารถตัดได้ทั้งแบบแผ่น(Sheet) หรือแบบม้วน นิยมสำหรับการใช้งานกับวัสดุประเภทหนังสังเคราะห์ หรือ หนังเทียม และสามารถตัดได้หลายๆชั้นขึ้นอยู่กับความหนาของแผ่นหนังและแบบที่ใช้ตัด

3. เครื่องปั้มไดคัทระบบไฮดรอลิคแบบ 1 เสา หรือ เครื่องปั้มไดคัท Swing Arm

มักใช้อย่างกว้างขวางและนิยมใช้มากที่สุดในทุกๆอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในโรงงานที่มีการจำกัดในเรื่องของพื้นที่ เครื่องปั๊มไดคัท Swing Arm เป็นเครื่องปั๊มไดคัทที่มีพื้นที่การตัดน้อยที่สุด ใช้กำลังไฟฟ้าน้อยและประหยัดพลังงาน สามารถตัดหนังที่มีลักษณะเป็นแผ่นได้เท่านั้น

เครื่องผ่าหนัง หรือ Splitting Machines

มักนิยมนำไปใช้สำหรับผ่าหนังทั้งผืนหรือทั้งแผ่นให้มีความเรียบและมีความบางลง สามารถผ่าหนังได้บางที่สุด

0.2 – 0.4 มิลลิเมตร มักนิยมนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น รองเท้า เครื่องหนัง ยานยนต์ สายไฟ หรือ

อุปกรณ์เครื่องกีฬา เป็นต้น

เครื่องปอกหนัง หรือ Skiving Machines

มักนิยมนำไปใช้สำหรับทำให้บริเวณขอบของแผ่นหนังมีความบางลง โดยมีพื้นที่การปอกหนังกว้าง 0 – 50 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่มักใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีวิธีการผลิตในรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่ยังมีการใช้ฝีมือของคนในการผลิตสินค้า เช่น พวงมาลัยรถยนต์ รองเท้า กระเป๋า เป็นต้น

Micap Thailand ได้นำเสนอภาพรวมและรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุประเภทหนัง และเครื่องจักรที่เหมาะสมกับหนังแต่ละชนิดที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า กระเป๋า และอื่นๆอีกมากมาย เพราะเรา MICAP คือผู้นำด้านการตัดวัสดุ Non-Metal ทุกชนิดมานานมากกว่า 42 ปี และเรามีความมุ่งมั่นในการหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอ เราเป็นผู้จัดจำหน่ายและออกแบบเครื่องจักรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกอุตสาหกรรมและทุกสายผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเรายังมีบริการหลังการขายที่มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการบริการลูกค้าอยู่เสมอ

หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเครื่องตัดหนัง มีความหลงไหลในของเครื่องหนัง หรือต้องการทราบรายละเอียดคุณสมบัติของเครื่องตัดหนัง ก่อนทำการตัดสินในเลือกซื้อเครื่องจักรให้เหมาะสมต่อธุรกิจของคุณ